Thursday, October 28, 2010

สมุนไพร

                        
                         สมุนไพร เป็นสิ่งที่เกิดจากธรรมชาติที่มีประโยชน์ในแง่ต่างๆมากมาย ในอดีตสมุนไพรมักถูกนำมาใช้เป็นยารักษาโรค  คุณประโยชน์ของสมุนไพรแต่ละชนิดก็จะมีความแตกต่างกันไปตามสรรพคุณสมุนไพร ซึ่งคนยุคเก่าได้ศึกษาค้นคว้าและเก็บเป็นข้อมูลที่ได้จากการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรนานาชนิดเป็นเวลายาวนาน  ปัจจุบันกระแสความนิยมเกี่ยวกับสมุนไพรมีมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อคนเริ่มหันมาตระหนักถึงสุขภาพเป็นด้านหลักผนวกกับความเชื่อของมนุษย์เราที่เชื่อกันว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่มีการปลอมปนจากสารเคมีหรือถ้าจะมีก็ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต

                         ศาสตร์แห่งสมุนไพรเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก พืชสมุนไพรแต่ละชนิดมีการนำมาใช้เป็นระยะเวลานาน และเก็บเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของมันจากคนรุ่นต่อรุ่น  ในทุกส่วนของพืชสมุนไพรอาจจะนำมาใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกันตามประเภท ทั้งใบ ทั้งกิ่งก้าน ทั้งราก  ล้วนแล้วแต่มีคุณประโยชน์แอบแฝงอยู่

                         ในพืชสมุนไพรเองก็มักจะมีสารเคมีชนิดต่างๆ ประกอบอยู่หลายชนิด ดังนั้นการสกัดพืชสมุนไพรจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งการสกัดพืชสมุนไพรออกได้หลายแบบซึ่งขึ้นกับลักษณะการนำไปใช้ประโยชน์ เช่นการสกัดพืชสมุนไพรเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาแผนปัจจุบัน หรือการสกัดพืชสมุนไพรเพื่อต้องการสารเคมีที่เฉพาะเจาะจงที่แฝงอยู่ในพืชสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น

                                                     
                                                                       ว่านหางจระเข้หนึ่งในสมุนไพรไทย
                                                                ภาพจาก http://www.pharm.su.ac.th/

                          ผศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ อาจารย์จากภาควิชา วิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นนักวิจัยอีกท่านหนึ่งที่สนใจในเรื่องของการสกัดพืชสมุนไพร โดยมีผลงาน เช่น ฤทธิ์ของสารสกัดใบแป๊ะก๊วยต่อการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนปลายและระยะเวลาเลือดออก,การสกัดสารแอนทราควิโนนส์จากรากของต้นยอด้วยน้ำกึ่งวิกฤต,การสกัดสารประกอบทางยาจากมะระขี้นกด้วยน้ำกึ่งวิกฤต และล่าสุด ผศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ เพิ่งได้รับรางวัลรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ. 2551 จาก มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จาก ความทุ่มเท ให้กับงานวิจัยในแขนงนี้โดยมุ่งเน้น การนำเทคโนโลยีของไหลวิกฤตยวดยิ่ง และของไหลกึ่งวิกฤตมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการสกัดพืชสมุนไพร และการทำปฏิกิริยาเพื่อเปลี่ยนชีวมวลจากการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม แทนการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ ผศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ เผยว่า

                          “โดยสรุปแล้วงานที่ทำจะเน้นหลักๆ คือการนำเอาทรัพยากรในบ้านเรามาทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นซึ่งตัวเองมีความสนใจในเทคโนโลยีนี้ ของเหลวยิ่งยวดหรือเรียกว่ายวดยิ่งก็ได้  อันนี้เป็นสภาวะของไหลที่  เมื่อเราเพิ่มอุณหภูมิหรือความดันขึ้นไปมันก็จะมีสถานะพิเศษที่นำมาใช้เป็นตัวทำละลายของสารละลายอินทรีย์ที่นำมาสกัดสารพวกยาหรือสมุนไพรอะไรก็ได้ ”

                          ผศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ ได้นำเทคโนโลยีของไหลวิกฤตยวดยิ่ง และของไหลกึ่งวิกฤตมาใช้ในการสกัดพืชสนุมไพรเพื่อทดแทนการสกัดพืชสมุนไพรด้วย ตัวทำละลายอินทรีย์ (organic solvent)จากสารเคมี ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบได้ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางผิวหนัง ผลกระทบต่อระบบประสาท ผลกระทบต่อระบบโลหิตอันสามารถเกิดจากใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ได้ ซึ่งผศ.ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ ได้อธิบายเกี่ยวกับของไหลยิ่งยวดไว้ว่าเช่นน้ำที่บรรจุอยู่ในภาชนะปิดสนิท เมื่อให้ความร้อนปริมาณหนึ่งกับน้ำ น้ำส่วนหนึ่งกลายเป็นไอ และเนื่องจากระบบเป็นภาชนะปิดสนิท ความดันภายในระบบจะมีค่าสูงขึ้น  ในสภาวะดังกล่าวจะมีน้ำในสถานะของเหลวและไออยู่ร่วมกัน และถ้าหากเราให้ความร้อนเพิ่มขึ้นต่อไปจนถึงอุณหภูมิและความดันค่าหนึ่ง น้ำในภาชนะจะไม่ปรากฎอยู่ในทั้งสภาวะไอหรือของเหลว เราเรียกจุดนี้ว่า จุดวิกฤต  และถ้ายังมีการให้ความร้อนต่อไปอีก น้ำจะเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่าเป็นของไหลวิกฤตยวดยิ่ง

No comments:

Post a Comment